ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อักขราทร จุฬารัตน เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2483 สมรสกับนางสมจิต จุฬารัตน เมื่อ พ.ศ. 2511 เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดคนแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 และพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553
ต้นตระกูลของนายอักขราทรคือ เจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด ขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นสมุหราชนายกในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลูกหลานบางส่วนของนายเฉก อาหมัด เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลจุฬารัตน ส่วนลูกหลานอื่นๆ ยังคงนับถือศาสนาอิสลาม เช่น ตระกูลอหะหมัดจุฬา
นอกจากนี้ นายอักขราทร จุฬารัตน ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2517) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ. 2520-2522) กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2521) กรรมการร่างกฎหมาย (พ.ศ. 2528) และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (พ.ศ. 2538) ในคณะกรรมการกฤษฎีกา สมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ. 2539-2543) รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2549) รองประธานศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2550-2551) กรรมการกฤษฎีกา (พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน) รวมทั้งท่านยังเคยทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ หลายแห่ง เช่น เป็นผู้บรรยายวิชานิติกรรมสัญญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายอักขราทร จุฬารัตน ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2535 ได้รับรางวัลนิติโดม (พ.ศ. 2539) ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่สมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศให้ตำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองระหว่างประเทศ (พ.ศ. 2548-2551) ได้รับรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประเภทนักกฎหมายดีเด่น (พ.ศ. 2549)
ปัจจุบันนายอักขราทร จุฬารัตน พ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี โดยขณะนี้ทำหน้าที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาและนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่แทน ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549) คำพิพากษาส่วนตัวในคดียุบพรรค ของนายอักขราทร ให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คน เป็นเวลา 5 ปี ผลจากการตัดสินคดีดังกล่าว ทำให้ ศ.ดร.อักขราทร ถูกข่มขู่ โดยมีผู้นำระเบิดวางไว้หน้าบ้าน ซึ่งตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ แต่เหล่าสื่อมวลชนบางกลุ่มต่างกล่าวกันว่าเป็นการแก้แค้นของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร[ต้องการอ้างอิง]